Thursday, March 26, 2009

การทำปุ๋ยหมักน้ำชีวภาพและเชื้อจุลินทรีย์ EM

การทำปุ๋ยหมักน้ำชีวภาพและเชื้อจุลินทรีย์ EM

ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณพศ สิทธิเลิศ

ปัจจุบันมีหลายคนที่เคยปลูกต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับหรือปลูกผักสวนครัวภายในบ้านเท่าที่มีพื้นที่พอจะทำการเพาะปลูกได้ ก็มักจะพบว่าพืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับที่เราปลูกนั้นไม่สวย ต้นไม่งามเหมือนที่ขายตามร้านขายต้นไม้ในจตุจักร หรือที่วางขายอยู่ทั่วไป ส่วนผักสวนครัวต่าง ๆ ใบก็เล็ก ต้นก็แคระแกร็น ไม่น่ารับประทานเหมือนกับที่ขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไป เราท่านทั้งหลายก็คงทราบกันดีว่าพืชผักหรือต้นไม้ที่สวยงามเหล่านั้นถูก เลี้ยงบำรุงและเร่งให้เจริญเติบโตด้วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ซึ่งแน่นอนที่สุดสารเคมีตกค้างย่อมเกิดขึ้น เมื่อเรารับประทานพืชผักเหล่านั้นเข้าไปมากๆ ก็จะสะสมอยู่ในร่างกายเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ฉะนั้น ควรหันมาปลูกพืชผักแบบไร้สารพิษกินเอง ใช้เองภายในบ้านดีกว่า โดยใส่ปุ๋ยจากธรรมชาติ ที่ปลอดภัยทั้งสุขภาพของตัวเอง ครอบครัว และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญผลผลิตที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจและยังช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้อีกทาง หนึ่งด้วย ปุ๋ยจากธรรมชาติที่กล่าวถึงก็คือ ปุ๋ยหมักน้ำชีวภาพและเชื้อจุลินทรีย์ EM นั่นเอง ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีทำที่ง่าย ๆ สะดวก ไม่เสียเวลา จึงเหมาะกับคนเมืองทั้งหลายที่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ก็สามารถที่จะทำไว้ใช้เองได้
EM ย่อมาจาก Effective Micro-organisms ซึ่งหมายถึง กลุ่มเชื้อจุลินทรีย์เล็กๆ ที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการปรับปรุงความสมดุลของสิ่งมีชีวิตและ สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ซึ่งลักษณะของเชื้อจุลินทรีย์ EM จะเป็นของเหลวสีน้ำตาล ที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสิ่งที่มีชีวิตชนิดอื่น มีวิธีในการทำคือ นำพืช ผัก ผลไม้ที่ยังไม่บูดเน่า ลงผสมกับกากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดงในภาชนะซึ่งเป็นถังพลาสติก ถังโลหะหรือกระเบื้องเคลือบหรือจะใช้ถุงพลาสติกก็ได้ ในอัตราส่วนกากน้ำตาล 1 ส่วนต่อพืช ผัก ผลไม้ 3 ส่วน และใช้ของหนักวางทับพืชผัก แล้วปิดฝาทิ้งไว้ 5-7 วัน จะมีของเหลวสีน้ำตาลไหลออกมา และปล่อยไว้สักประมาณ 10-14 วัน ก็มีน้ำสกัดเพิ่มมากขึ้น จึงนำน้ำปุ๋ยหมักออกมาบรรจุลงในขวดพลาสติกปิดฝาให้สนิทพร้อมที่จะนำไปใช้ต่อ ไป
ในปุ๋ยหมักน้ำสกัดชีวภาพและ EM ประกอบด้วยสารอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น เอนไซม์ ฮอร์โมนและธาตุอาหารต่าง ๆ เอนไซม์บางชนิดจะทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้เป็นสารอินทรีย์ เป็นอาหารของจุลินทรีย์เอง และเป็นอาหารของต้นพืช ฮอร์โมนหลายชนิดที่จุลินทรีย์สร้างขึ้นก็เป็นประโยชน์ต่อพืชถ้าให้ในปริมาณ เล็กน้อย แต่จะมีโทษถ้าให้ในปริมาณที่เข้มข้นมากเกินไป ฉะนั้นเวลานำไปใช้ต้องทำให้เจือจางโดยใช้น้ำสกัด 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 500-1,000 ส่วน จะให้ประโยชน์เป็นปุ๋ยโดยตรง ป้องกันกำจัดแมลงและโรค กำจัดน้ำเสียและการเพาะเลี้ยงน้ำ ใช้กับสัตว์เลี้ยง (ไก่และสุกร) 250 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อโรค เป็นต้น

No comments:

Post a Comment